สมดุลย์พาราดอกซ์

สมดุลย์พาราดอกซ์
Photo by freddie marriage on Unsplash

ผมเพิ่งกลับจากคอร์ส polarity management ของ Tong Yee ที่สิงคโปร์

ผมได้เรียนรู้ว่า polarity หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า พาราดอกซ์ (paradox) นั้นคือขั้วตรงข้าม แต่เป็นขั้วที่จำเป็นทั้งสองด้าน เช่น การฝึกฝน กับ การพักผ่อน ถ้าเราให้ความสำคัญกับการฝึกฝนเท่านั้น เราจะมีอนาคตที่สดใสที่เราไม่อยากจะอยู่ เพราะชีวิตไม่มีความสุขเลย แต่ถ้าเราให้ความสำคัญกับการพักผ่อนซึ่งมอบความสุขสบายในปัจจุบันจนเราอ่อนแอมาก ๆ เดี๋ยวหมอก็ให้เรากายภาพอยู่ดี

พาราดอกซ์เป็นขั้วตรงข้าม ซึ่งทั้งสองด้านจะมีทั้งข้อดีเมื่อเราให้ความสำคัญกับมันแต่พอดี และมีข้อเสียถ้าเราให้ความสำคัญมันมากเกินไปเช่นกัน

สองข้างในพาราดอกซ์เราเลือกไม่ได้ มันไม่ใช่ปัญหาที่ต้องแก้ เพราะถ้าเราเลือกข้างใดข้างหนึ่ง ข้างนั้นก็จะหนักเกินจนเสียสมดุลย์ แล้วธรรมชาติจะดึงเรากลับมาให้สนใจอีกข้างอยู่ดี ใครมองผิดว่าพาราดอกซ์เป็นปัญหา ก็จะใช้ชีวิตติด loop คือ ฝึกหนักเกิน, เจ็บ, พัก, พักเยอะเกิน, รู้สึกแย่กับตัวเอง, ฝึกหนักเกิน วน ๆ ไป ไม่จบไม่สิ้น

สิ่งที่เราทำกับพาราดอกซ์ได้ เพียงแค่การบริหารความตึงเครียดให้อยู่ในระดับที่พอดี การอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งนั้นมันยากและไม่สนุกแหละ แต่มันช่วยให้ความแกร่งของจิตใจของเราสูงขึ้น และนำไปสู่การเติบโต

คาร์ล ยุง เคยถึงกับกล่าวว่าการจะเข้าใจชีวิตได้ คือการเข้าใจพาราดอกซ์นี่แหละ

‘Only the paradox comes anywhere near to comprehending the fullness of life’ — Carl Jung

ความขัดแย้ง

ปรกติบ่อยครั้ง คนเราเห็นต่างกันเพราะพาราดอกซ์นี่แหละ เพราะแต่ละฝ่ายยึดถือคุณค่าที่แตกต่างกัน เช่น ฝั่งหนึ่งอาจจะให้ความสำคัญกับความเด็ดขาดในการตัดสินใจ ขณะที่อีกฝั่งอาจจะให้คุณค่ากับความรอบคอบ

แต่จริง ๆ แล้ว ฝ่ายที่ต้องการความเด็ดขาด ก็ไม่ได้อยากวู่วามนะ อยากรอบคอบเหมือนกัน แค่น้อยกว่า

ส่วนฝ่ายที่รอบคอบก็ไม่อยากเฉื่อยนะ รู้เหมือนกันว่าเวลามันจำกัด แค่ให้คุณค่ากับความเร็วน้อยกว่าเฉย ๆ

การทะเลาะกัน

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าสมองมนุษย์อยู่กับความขัดแย้งได้ยาก ถ้าไม่ได้รับการฝึกฝน ฉะนั้น ตามธรรมชาติเราก็จะโยนความรับผิดชอบเรื่องความเด็ดขาด หรือ ความรอบคอบให้อีกฝ่ายนึง แล้วเราก็ดูแค่ครึ่งเดียวของสมการ แบบนี้ก็จะไม่ต้องอยู่ท่ามกลางพาราดอกซ์ละ

ซ้ำร้าย ตอนเราโยนความเด็ดขาด หรือความรอบคอบไปให้อีกฝ่าย เราดันแปลงสารให้เป็นความเฉื่อย หรือ ความวู่วามโดยไม่ได้ตั้งใจ นั่นเพราะลึก ๆ แล้วเราอยากได้เหตุผลเพื่อจะเอาชนะนั่นเอง

พอทำแบบนี้ผลลัพธ์บ่อยครั้งคือทะเลาะกัน และเราก็ไม่ได้ตระหนักรู้ด้วยว่าจริง ๆ อีกฝ่ายก็มีส่วนที่เห็นด้วยกับคุณค่าของฝั่งเราเหมือนกัน

แก้ปัญหาอย่างไร

ก่อนจะเริ่มแก้ปัญหา เราต้องพยายามให้ทั้งสองฝ่ายมองเห็นปัญหาด้วยความเคารพก่อน

คุณค่าของทั้งสองฝั่งต้องเป็นคุณค่าที่มีประโยชน์ เช่น เด็ดขาด กับ รอบคอบ ถ้าเรายังคิดว่าทั้งสองขั้วเป็น เด็ดขาดกับเชื่องช้า หรือ วู่วามกับรอบคอบ เราได้เลือกข้างไปแล้ว (Polarized) เรายังไม่เห็นพาราดอกซ์อย่างเป็นกลาง

หลังจากเห็นพาราดอกซ์ที่เป็นกลางแล้ว บ่อยครั้งเราพยายามพร่ำบ่นข้อดีของฝ่ายเรา หรือข้อเสียของอีกคุณค่า แต่น้อยครั้งที่อีกฝ่ายจะได้ยิน เพราะสิ่งที่ทำให้เค้ายึดมั่นกับคุณค่าอีกฝั่งไม่ใช่เพราะเค้าไม่เคารพข้อดีของคุณค่าที่เรายึดถือ แต่เป็นความกลัวของสิ่งที่เค้าจะเสียไปจากการละวางคุณค่าที่เค้ายึดมั่นต่างหาก

เมื่อไหร่ที่เราได้ยินว่าเค้ากลัวอะไร และเราได้แบ่งปันว่าเรากลัวอะไร แล้วช่วยกันสร้างความปลอดภัย เราก็จะปล่อยวางจากคุณค่าที่เรายึดมั่นได้ง่ายขึ้น

สาเหตุที่การพร่ำบ่นไม่เคยเวิร์ค เพราะ ความกลัวเป็นอารมณ์แรกของเราทุกคน มันผูกติดกับสัญชาตญาณอย่างลึกซึ้งมาก อารมณ์อื่นไม่ว่าจะเป็น โกรธ ฮึดสู้ ตื่นเต้น ก็จะต้องยอมศิโรราบให้ความกลัว เพราะเราเริ่มบ่มเพาะอารมณ์กลัวตั้งแต่ร้องแอ๊ะแรกที่ออกมาจากท้องแม่แล้ว

มีรายละเอียดอื่น ๆ มากมายที่ได้เรียนใน 4 วันที่ผ่านมา ไว้ตอนหน้าผมค่อยมาแบ่งปันนะว่าเข้าใจพาราดอกซ์แก้ปัญหาชีวิตเราได้อย่างไร

อ้างอิง

Polarity Management:2nd (Second) edition Paperback – January 1, 1996
by Barry Johnson

Read more

จักระกับระบบประสาท

จักระกับระบบประสาท

ครูณาส่งหนังสือที่ครูแปล ชื่อ Becoming super natural มาให้ ผมได้ข้อมูลที่ตื่นตาตื่นใจหลายอย่าง หลายอย่างผมก็ยังต้องใช้เวลาค่อย ๆ ทำความเข้าใจไป แต่วันนี้อยากเอาเรื่อง จักระ ทั้ง 8 จุดมาแบ่งปัน จากในหนังสือ ผมได้ลองนั

By Chokchai
Scrum master focus

Scrum master focus

ครั้งแรกที่ผมได้เรียนว่า สกรัมมาสเตอร์ควรแบ่งโฟกัสการโค้ชของตัวเองเป็น 4 เรื่องคือ 1. องค์กร 2. engineering practice 3. product owner 4. ทีม ผมอดคิดไม่ได้ว่าคนบ้าอะไรจะไปเก่งทั้ง 4 อย่างซึ่งมันใช้ความรู้และทักษะที่แตกต่างกันเหลือเกิ

By Chokchai