Scrum master focus
ครั้งแรกที่ผมได้เรียนว่า สกรัมมาสเตอร์ควรแบ่งโฟกัสการโค้ชของตัวเองเป็น 4 เรื่องคือ
1. องค์กร
2. engineering practice
3. product owner
4. ทีม
ผมอดคิดไม่ได้ว่าคนบ้าอะไรจะไปเก่งทั้ง 4 อย่างซึ่งมันใช้ความรู้และทักษะที่แตกต่างกันเหลือเกิน แบะต่อให้เก่งทั้ง 4 แกน วัน ๆ หนึ่งจะไปทำทั้งหมดนี่ทันได้อย่างไร
หลังจากเรียนเสร็จ ผมก็ค่อย ๆ เก็บประสบการณ์การโค้ชทั้ง 4 แกนไปวันละนิด ๆ ในแต่ละองค์กรที่ผมได้ร่วมงานด้วยก็เปิดโอกาสให้ผมฝึกแกนต่าง ๆ มากน้อยต่างกัน บ้างก็เน้นโค้ชทีม บ้างก็เน้น organization coaching เป็นต้น
วันเวลาผ่านไป ผมก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นทีละนิดว่าทำไปอาจารย์ถึงสอนให้คนที่ดูทั้ง 4 เรื่องเป็นคนเดียวกัน
จากประสบการณ์ผมที่เคยได้รับผิดชอบการโค้ชทั้ง 4 แกนตัวเอง และทั้งเคยทำงานร่วมกับอไจล์โค้ชท่านอื่นโดยแบ่งงานกันให้อไจล์โค้ชดูแล organization coaching ส่วนผมที่เป็นสกรัมมาสเตอร์ตอนนั้นดูทีม, engineering practice และ PO เป็นหลัก ผมพบว่าข้อมูลหน้างานที่ผมได้จากการทำงานใกล้ชิดกับทีมหรือ PO จำเป็นมากในการตัดสินใจว่าจะปรับโครงสร้างของทีมงานอย่างไร หรือกฎต่าง ๆ ที่ผู้นำกำหนดขึ้นมามีผลกับจิตวิทยาและความร่วมมือของทีมอย่างไร
บ่อยครั้งที่ผมพบว่ากฎที่ตั้งขึ้นมาเพื่อ optimize บางอย่าง ก็ส่งผลกระทบที่ไม่คาดคิดกับตัวแปรอื่น ๆ ในองค์กร หรือบ่อยครั้งที่ผมพบว่าการแนะนำ engineering practice บางอย่างช่วยลดแรงเสียดทานระหว่างสมาชิกในทีมได้ นอกจากนี้เค้ายังรู้ซึ้งถึงความสำคัญของ practice เหล่านั้นและทำมันอย่างขันแข็งโดยไม่ต้องให้ผมพร่ำบอก เพราะเค้ามีประสบการณ์แล้วว่าการละเลยวินัยข้อนี้อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างไร
แล้วแบ่งเวลาอย่างไร
พอผมได้อ่าน Scrum master checklist ของ Michael James ก็ได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่ต้องทำในแต่ละแกนนั้นไม่น้อยเลย วันนึงมีเวลาทำงานแค่ 8 ชั่วโมง จะไปทำทันได้ยังไงนะ
โชคดีที่เจอคำแนะนำใน Large Scale Scrum website ว่าแต่ละช่วงเวลา เราไม่ต้องโฟกัสทั้ง 4 แกน เราค่อย ๆ แบ่งโฟกัส ขึ้นกับการเติบโตของทีมและ PO ได้
ช่วงแรก ๆ ก่อนที่จะเริ่ม adoption สกรัมมาสเตอร์จะทำ organizational coaching ใกล้ชิดกับผู้นำ เพื่อกำหนด Definition of Done ที่เหมาะกับบริบทขององค์กร เพราะ DoD จะเป็นตัวบอกว่าภายในทีมต้องมีสมาชิกที่มีทักษะอะไรบ้าง และทักษะที่ต้องใช้จะตีกรอบเราจะเริ่มทำ adoption ในวงกว้างแค่ไหน
เมื่อเราได้ทีมมาแล้ว สกรัมมาสเตอร์จะใช้เวลาส่วนใหญ่กับการโค้ชทีมและ PO ที่อาจจะไม่คุ้นเคยกับสกรัม
เมื่อเวลาผ่านไปที่ทีมกับ PO เข้าขากันแล้ว และทีมก็บริหารจัดการตัวเองเป็นแล้ว ทีมก็จะทำงานได้เร็วขึ้น แล้วคอขวดของกระบวนการพัฒนาจะย้ายไปอยู่จุดอื่นในองค์กร สกรัมมาสเตอร์ก็จะกลับมาให้ความสำคัญกับ organizational coaching มากขึ้น
ซึ่งสิ่งที่ผมพบบ่อยครั้งในช่วงเวลาเดียวกันนี้คือ technical debt ที่ทีมและ PO สะสมมาเริ่มจะออกอาการ เช่น cost ของการทำ regression tests แพงมาก เลยทำให้คุณภาพของซอฟต์แวร์ไม่ดีเท่าที่ควร หรือ engineering practice ที่ไม่ดีพอกับความซับซ้อนของซอฟต์แวร์ที่สูงขึ้นเมื่อมีฟีเจอร์มากขึ้น ทำให้ทีมเสียเวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำ integration ความยากลำบากในการทำงานเริ่มก่อให้เกิดความขัดแย้ง สกรัมมาสเตอร์จึงให้ความสำคัญกับ engineering practice มากขึ้นเพื่อรักษายั่งยืนของความเร็วของทีมเอาไว้
วันนี้ที่ผมคุ้นเคยทั้ง 4 แกนแล้ว
การแบ่งคนไปโค้ชแกนใดแกนหนึ่ง ไม่เมคเซนส์สำหรับผมอีกต่อไปแล้ว เพราะทั้ง 4 แกนมันมีความสัมพันธ์กันเองอย่าเป็นระบบ เช่น การโค้ช PO ให้ split item ให้เล็กลงจนเหมาะสมกับความเร็วของทีมได้ ช่วยรักษาความสมดุลระหว่างความคล่องตัวในการพัฒนาและการช่วยให้ทีมเห็นภาพรวมว่ากำลังแก้ปัญหาส่วนไหนในธุรกิจ หรือโครงสร้างองค์กรมีผลกับวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งมีผลกับความร่วมมือภายในทีมและระหว่างทีมกับ PO อีกที
อย่างไรก็ดี ผมก็ยังไม่ลืมความรู้สึกวันที่ผมนึกไม่ออกว่าคน ๆ นึงจะไปเก่งทั้ง 4 เรื่องได้ยังไงนะ ทำให้เวลาผมฝึกสอนสกรัมมาสเตอร์มือใหม่ ผมมักจะบอกเค้าเสมอว่าจากพื้นฐานที่แตกต่างกัน เป็นธรรมดาที่เราไม่ถนัดบางแกน เช่น อาจจะเขิน ๆ เวลาไป pair กับทีมเขียนโปรแกรม หรือไม่ถนัดตอนช่วยกันคิดกับ PO ว่าจะ split item อย่างไร ให้ product อยู่ในสถานะ releasable ตลอดเวลา หรืออาจจะหาจังหวะแบ่งปันข้อมูลกับผู้บริหารระดับสูงตอนทำ organization coaching ยาก
จะไม่ถนัดเรื่องไหนก็ไม่เป็นไร แต่จะละเลยแกนใดไปเลยเป็นเวลา 2–3 เดือนนั้นไม่โอเค การขาดข้อมูลแกนใดไป มีโอกาสสูงมากที่จะพลาดทำ local optimization อยู่ ความเร็วที่เพิ่มขึ้นในส่วนเล็ก ๆ นี้ขององค์กร อาจจะกำลังทำร้ายภาพรวมอยู่ก็ได้
สรุป
สกรัมมาสเตอร์ไม่จำเป็นต้อง 3 เศียร 6 กร เขียนโปราแกรมเก่งกว่าทีม, ตัด release เก่งกว่า PO จัดโครงสร้างองค์กรเก่งกว่าผู้นำ หรือเชี่ยวชาญ engineering practice ต่าง ๆ มากกว่าสมาชิกในทีม แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มีโอกาสไป pair กับเค้า เปิดโอกาสไปเรียนรู้จากพวกเค้าบ้าง เพื่อจะได้สวมรองเท้าเค้า เพื่อจะได้สานสัมพันธ์กับพวกเค้า เพื่อจะได้โค้ชเค้าออกมาจากความเข้าใจ