พาราดอกซ์ ตอน 2: ชีวิตติดลูป

พาราดอกซ์ ตอน 2: ชีวิตติดลูป

ครั้งที่แล้วผมแนะนำให้รู้จักกับพาราดอกซ์คร่าว ๆ และบอกแล้วว่ามันไม่ใช่ปัญหาที่ต้องแก้ แต่เป็นสมดุลย์ที่ต้องบริหาร

เพื่อให้เข้าใจคำว่า ชีวิตติดลูป มากขึ้น เรามาดูตัวอย่างตอนผมมองพาราดอกซ์ไม่ออก แล้วหลงคิดว่าเป็นปัญหากัน เอาตัวอย่างฝึกฝนกับพักผ่อนเหมือนเดิมนี่แหละ

วาดโดย โชคชัย ภัทรมาลัย

เริ่มจากผมอาจจะอยู่ที่ขวาล่าง คือ พักเยอะเกิน แล้วกำลังตำหนิตัวเองอย่างหนักว่าทำไมผมขี้เกียจแบบนี้นะ ผมมองว่าผมความขี้เกียจเป็นปัญหา แล้วก็เกลียดตัวเองที่ขี้เกียจ แล้วผมก็ให้ความสำคัญกับการฝึกฝน

ช่วงนี้ผมกำลังเดินทางจากมุมขวาล่างขึ้นไปซ้ายบน ยิ่งฝึกก็ยิ่งเห็นผล รู้สึกตัวเองเก่งขึ้น มีคุณค่าขึ้น อาจจะได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง ยิ่งมีไฟฝึกเข้าไปใหญ่ ผมเพิกเฉยกับการพักผ่อน ซึ่งในช่วงขณะนี้ผมมองว่าเป็นความเกียจคร้าน และผมตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ยอมกลับไปขี้เกียจอีก

แล้วถึงจุดนึง ผมก็หล่นจากซ้ายบนลงซ้ายล่าง ผมเริ่มเหนื่อยมาก ๆ ตื่นมาแล้วไม่อยากลุกจากเตียงเลย เพราะร่างกายมันจำได้ว่ากิจกรรมถัดไปที่รออยู่คือตารางการฝึกฝน ผมอาจจะอู้บ่อยขึ้น รู้สึกขี้เกียจ ซึ่งตอนพักผ่อนผมก็รู้สึกสบายนะ แต่แล้วผมก็หล่นจากขวาบนมาขวาล่างอีกเพราะผมรู้สึกแย่กับตัวเอง ซึ่งเป็นแรงผลักดันผมไปมุมซ้ายบนทันที

จากเรื่องราวที่เล่ามา จะเห็นว่าในช่วงนี้ของชีวิตผมให้ความสำคัญกับการฝึกฝน ผมมองการพักผ่อนเป็นความขี้เกียจ ผมไม่รู้สึกดีตอนได้พัก แต่ตัดสินตัวเองว่าขี้เกียจ แล้วอาศัยแรงกดดันนั้นผลักดันตัวเองให้ฝึกฝนต่อไป

แล้วผ่านมาช่วงนึง ผมก็รักษาการฝึกฝนต่อไปไม่ไหว ชีวิตผมที่เหมือนชิงช้าที่แกว่งจากการพักผ่อนไปสู่การฝึกฝน แล้วพอหมดแรงส่ง ชีวิตผมก็ถึงคราวแกว่งกลับไปสู่การพักผ่อน

เช่นผมเริ่มเกิดคำถามว่าที่ทำทั้งหมดนี้เพื่ออะไรนะ ผมจะฝืนฝึกฝนไปทำไม ทำไปก็ทั้งเหนื่อย ทั้งเสี่ยงบาดเจ็บเปล่า ๆ ผมในตอนนี้ลืมไปแล้วว่าตอนแรกที่เลือกการฝึกฝนนั้นผมเลือกไปด้วยเจตนาอะไร

ผมเห็นคุณค่าของการเก็บเกี่ยวความสุขในปัจจุบันมากขึ้น เริ่มสนุกสนานกับการชิมอาหารที่หลากหลาย เริ่มละวางคุณค่าของการเตรียมความพร้อมในอนาคต บอกตัวเองว่า ผมที่ไม่รู้จะตายวันตายพรุ่ง วันนี้เก็บเกี่ยวความสุขได้ ก็ต้องรีบตักตวงไว้

ช่วงนี้ของชีวิตผมอาจจะห่าง ๆ จากเพื่อนที่ฟิตเนสไปบ้าง และเจอเพื่อนอีกกลุ่มที่ไปกินไปดื่มด้วยกันบ่อย ๆ ผมมีความสุขกับการได้ชิมอาหารอร่อย ๆ ที่หลากหลาย

แล้วผมก็เริ่มป่วย อาจจะเป็นผลเลือดจากการตรวจสุขภาพประจำปี หรืออาจจะเป็นโรคอะไรซักอย่างที่ทำให้ผมตระหนักว่าผมเสพสุขต่อไปไม่ได้แล้ว การกินของอร่อย ๆ ที่ชอบอาจจะทำให้อาการกำเริบ หรือผมกลัวตายขึ้นมา อาหารที่เคยอร่อยก็ไม่อร่อยเท่าเดิมอีกต่อไป หมอเริ่มแนะนำอย่างยิ่งยวดให้ผมออกกำลังกายบ้าง ทำให้ผมกลับมาให้ความสำคัญกับการฝึกฝนอีก

ถ้าเปรียบชีวิตผมช่วงนี้ก็เหมือนชิงช้าที่แกว่งกลับมาจนสุดแรงฝั่งพักผ่อน แล้วกำลังเริ่มแกว่งกลับไปฝึกฝนอีก

นี่แหละเป็นที่มาของคำว่าชีวิตติดลูป ชีวิตผมก็จะมีปัญหาจากการฝึกหนักเกิน หรือพักผ่อนเยอะเกินวน ๆ ไปไม่จบไม่สิ้น จนกว่าผมจะมองย้อนกลับไปดูชีวิตตัวเองในระยะยาว แล้วตระหนักถึงรูปแบบว่านี่มันกลับไปกลับมานี่นา แล้วนึกถึงคุณค่าทั้ง 2 ขั้วของพาราดอกซ์ให้ออก มองด้วยใจเป็นกลาง แล้วเห็นทั้งข้อดีและข้อเสียของทั้ง 2 คุณค่าจากประสบการณ์ที่ตัวเองเคยผ่านช่วงเวลาที่ซาบซึ้งทั้ง 2 คุณค่ามาแล้ว

เมื่อนั้นผมถึงจะเริ่มเข้าใจว่าผมจะเลือกแสงแต่ไม่เอาเงาไม่ได้ มันผิดธรรมชาติ และสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติจะไม่ยั่งยืน

เมื่อนั้นผมถึงจะมีโอกาสสร้างสรรค์แล้วออกแบบชีวิตตัวเองโดยที่ผมจะได้ประโยชน์จากทั้งสองขั้วให้มากที่สุด และตระหนักถึงโทษเวลาที่เอนไปขั้วใดขั้วหนึ่งมากเกิน

เมื่อนั้นผมถึงจะมีโอกาสได้สัมผัสกับคุณค่าของการพักผ่อนได้โดยไม่ตัดสินว่าตัวเองขี้เกียจ สัมผัสกับความภูมิใจหลังฝึกฝนเสร็จโดยไม่กังวลว่าตัวเองจะฝืนเกิน เปิดใจโอบกอดความรู้สึกอยากอู้ที่เข้ามาแล้วมองมันเป็นสัญญาณเตือนให้ระวังฝึกฝนเกินพอดี เปิดใจรับความรู้สึกกังวลตอนพักผ่อนบ่อยเกินแล้วตระหนักถึงข้อควรระวังโดยไม่ตัดสินตัวเอง เมื่อนั้นผมถึงจะใช้ชีวิตเหนือพาราดอกซ์ ชีวิตผมจะสมดุลย์ขึ้น อารมณ์ผมจะไม่แกว่งมาก เหมือนชิงช้าที่โยกน้อย ๆ แบบสบาย ๆ

มุมมองของพาราดอกซ์ไม่ใช่การเลือกซ้ายหรือขวา (either or) แต่เป็นทั้งซ้ายและขวา (both and)

คุณสามารถจะเก็บเค้กและกินมันได้ด้วยนะ แต่ไม่ใช่ในชั่วขณะเดียวกันเฉย ๆ

อ้างอิง

สมดุลย์พาราดอกซ์

Read more

จักระกับระบบประสาท

จักระกับระบบประสาท

ครูณาส่งหนังสือที่ครูแปล ชื่อ Becoming super natural มาให้ ผมได้ข้อมูลที่ตื่นตาตื่นใจหลายอย่าง หลายอย่างผมก็ยังต้องใช้เวลาค่อย ๆ ทำความเข้าใจไป แต่วันนี้อยากเอาเรื่อง จักระ ทั้ง 8 จุดมาแบ่งปัน จากในหนังสือ ผมได้ลองนั

By Chokchai
Scrum master focus

Scrum master focus

ครั้งแรกที่ผมได้เรียนว่า สกรัมมาสเตอร์ควรแบ่งโฟกัสการโค้ชของตัวเองเป็น 4 เรื่องคือ 1. องค์กร 2. engineering practice 3. product owner 4. ทีม ผมอดคิดไม่ได้ว่าคนบ้าอะไรจะไปเก่งทั้ง 4 อย่างซึ่งมันใช้ความรู้และทักษะที่แตกต่างกันเหลือเกิ

By Chokchai
Community of Practice (CoP) คืออะไร?

Community of Practice (CoP) คืออะไร?

กาลครั้งหนึ่ง… ชมรม Community of Practice (CoP) เป็นคอนเซปต์ที่ถูกกล่าวถึงใน Large Scale Scrum เทียบง่าย ๆ ก็เหมือนชมรมตอนเราเรียน ม. ปลาย นั่นแหละ ใครสนใจเรื่องอะไร ก็ไปเข้าชมรมนั้น แล้วก็ไปทำกิจกรรมร่วมกันในเรื่องที่เราสนใจ เพื่อฝึกฝนและแลกเปลี่ยนความรู้ บางทีอาจจะมี

By Chokchai